เครื่องดื่มโพรไบโอติกสูง ช่วยปรับสมดุลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน

ใครที่มักจะมีปัญหาระบบลำไส้แปรปรวน ระบบการขับถ่ายไม่ดี มักจะท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสียบ่อย แม้แต่ผู้ที่หายจากอาการโควิด หรือยังมีอาการลองโควิด ทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้ไม่ปกติ คือแบคทีเรียดีน้อยลง แต่การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีโพรไบโอติกจะช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ และยังช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว B lymphocyte หรือ B cell คือ เม็ดเลือดขาวที่จะไปสร้างแอนตี้บอดี้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายไว้ต่อสู้กับเชื้อโรค เรามีเครื่องดื่มโพรไบโอติกสูงมาแนะนำเพื่อน ๆ พร้อมกับประโยชน์ของโพรไบโอติกมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยดีกว่า
โพรไบโอติกคืออะไร
โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตชนิดดี มีทั้งชนิดแบคทีเรียดี ชนิดยีสต์ดี ชนิดเชื้อราดี ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารและระบบอื่น ๆ ในร่างกาย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบอวัยวะภายใน โดยเฉพาะระบบลำไส้ ทางเดินอาหาร และการเสริมภูมิคุ้มกันโรค
โพรไบโอติก ภาษาอังกฤษ คือ Probiotic จึงสามารถออกเสียงได้ทั้ง โพรไบโอติก หรือ โปรไบโอติก ซึ่งเราอาจเห็น Probiotics เนื่องจากโพรไบโอติกมีอยู่หลายสายพันธุ์ด้วยกัน จึงอาจมีการเติม s ในการเขียนบางแห่ง
โพรไบโอติกประโยชน์ดีอย่างไร
ประโยชน์ของโพรไบโอติกคือ ลดปริมาณจุลินทรีย์ไม่ดีที่อาจก่อให้เกิดโรค กำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร ช่วยปรับสมดุลลำไส้ และกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน ลดอาการท้องอืด ท้องเสีย กระตุ้นการขับถ่าย และถ้าหากมีปริมาณจุลินทรีย์ดี-แบคทีเรียดีมากกว่าชนิดไม่ดี จะช่วยให้ระบบคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้นด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น โพรไบโอติกยังช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในช่องคลอด ทำให้ช่วยป้องกันการติดเชื้อราในช่องคลอดได้ และการได้รับโพรไบโอติกเป็นประจำจะช่วยให้อารมณ์ดี จากแบคทีเรียในลำไส้ที่มีส่วนช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นนั่นเอง และที่สำคัญ โพรไบโอติกยังมีส่วนช่วยอาการลองโควิดได้ด้วย
เครื่องดื่มที่มีโพรไบโอติกสูง
1. โยเกิร์ต

เมื่อพูดถึงโพรไบโอติก ส่วนใหญ่ก็ต้องนึกโยเกิร์ต เพราะเป็นแหล่งของโปรไบโอติก ที่เป็นแบคทีเรียดีต่อสุขภาพ การดื่มโยเกิร์ตเป็นประจำจะช่วยบำรุงกระดูก ดีต่อผู้ที่แพ้แลคโตสเพราะแบคทีเรียจะเปลี่ยนแลคโตสบางส่วนให้เป็นกรดแลคติก และยังดีต่อผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง
2. นมเปรี้ยว

แตกไลน์มาจากโยเกิร์ตเป็น นมเปรี้ยว คือ นมที่ผ่านการหมักจนได้โพรไบโอติก แต่ก็ต้องเลือกนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกชนิดเดียวกับที่มีในโยเกิร์ต เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโพรไบโอติกอย่างแท้จริง และควรไม่เลือกนมเปรี้ยวชนิด UHT วิธีการผลิตที่ใช้ความร้อนสูงมากจนจุลินทรีย์ตายหมด แต่ควรเลือกนมเปรี้ยวพาสเจอร์ไรซ์ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย ดีต่อสุขภาพแน่นอน
3. คีเฟอร์ (Kefir)

คีเฟอร์ คือ นมหมักจากการใส่คีเฟอร์เกรนส์เม็ดเล็ก ๆ ลงไป บางแห่งจะเรียกว่า บัวหิมะธิเบต ซึ่งเป็นแหล่งของแบคทีเรียที่ดี ชวยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก ปรับการทำงานของระบบทางเดินอาหารให้ดีขึ้น และป้องกันการติดเชื้อได้ด้วย
4. คอมบูชา (Kombucha)

คอมบูชา คือ ชาหมักด้วยแบคทีเรียและยีสต์ที่ดี เป็นอีกแหล่งโพรไบโอติกที่ดีต่อลำไส้ ผู้ที่มักจะมีปัญหาการขับถ่าย ท้องผูก การเลือกดื่มคอมบูชาถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีเลยทีเดียว
5. ควาส (Kvass)

ควาส คือ เครื่องดื่มที่หมักจากข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ นม ยีสต์ บีทรูท หรือขนมปังก็ได้ เป็นเครื่องดื่มของชาวสลาฟรัสเซีย เป็นอีกเครื่องดื่มที่มีโปรไบโอติกสูง ยิ่งถ้ามีส่วนผสมจากบีทรูท จะยิ่งมีไนเตรตและเบตาเลน (Betalain) ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง ช่วยให้ร่างหายฟื้นตัวได้เร็ว
6. เทปาเช่ (Tepache)

เทปาเช่ คือ เครื่องดื่มจากเม็กซิโก มีกรรมวิธีการหมักแบบเดียวกับคอมบูชา โดยจะหมักของส่วนสับปะรดทั้งหมด ทั้งเนื้อสับปะรด แกนสับปะรด และเปลือกสับปะรด ทำให้ได้ทั้งจุลินทรีย์โพรไบโอติก และวิตามิน ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร นอกจากสับปะรดแล้วเรายังสามารถใช้ผลไม้อื่นหมักเทปาเช่ได้เช่นกัน
7. ลาสซี่ (Lassi)

ลาสซี่ คือ เครื่องดื่มที่ได้จากการผสมระหว่างผลไม้ โยเกิร์ต และเครื่องเทศ เป็นเครื่องดื่มจากอินเดีย นอกจากจะมีประโยชน์ดีต่อสุขภาพแล้ว ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
ข้อควรระวัง
การได้รับโพรไบโอติกไม่เหมาะสมอาจส่งเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน จึงต้องระวังกับการกินโปรไบโอติก ดังนี้
- เช็กร่างกายตัวเองว่าสามารถกินโพรไบโอติกแล้วเกิดความผิดปกติหรือไม่ เพราะบางคนอาจมีความไวต่อดฑรไบโอติก ทำให้เมื่อกินแล้วท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสียมาก
- ให้เริ่มในปริมาณน้อย ๆ สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มดื่ม เพราะถ้าดื่มมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสีย ท้องอืด มีลมในท้องมากขึ้น หรือถ่ายเหลวได้
- ระวังในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ