#ความงาม #เรื่องน่ารู้

Fast Fashion ส่งผลต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างไร 

ถ้ามองกระแสแฟชั่นของคนในยุคนี้ ต้องยอมรับว่า เราทุกคนกำลังหลงวนอยู่ในกระแส Fast Fashion ที่ถูกปลูกฝังเหมือนมัลแวร์ ชนิดที่ทำลายแบบถอนรากถอนโคนได้ยากมาก 

Fast Fashion เกิดจากกระแสนิยมการใส่เสื้อผ้าตามคอนเล็คชั่นของแบรนด์เสื้อผ้าดัง ๆ ที่มักผลิตคอนเล็คชั่นออกมาในระยะสั้นเพื่อสร้างยอดขายและผลกำไร สร้างกระแสให้เป็นที่นิยมและกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค จนกลายเป็นที่ต้องการของท้องตลาด ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเร่งการผลิตเสื้อผ้าเพื่อจำหน่ายให้ทันต่อกระแสและในปริมาณมากพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ ทำให้เสื้อผ้าที่ผลิตออกมามีจำนวนมาก และจำหน่ายในราคาถูก จนใคร ๆ ก็สามารถซื้อและใส่ตามแฟชั่นได้ง่ายมากขึ้น 

Fast Fashion คืออะไร 

Fast Fashion คือ กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็ว ฉับไว ใช้ต้นทุนต่ำ ทั้งในส่วนของวัตถุดิบ แรงงาน และการผลิต เพื่อให้ได้เสื้อผ้านำไปจำหน่ายราคาถูก ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย มีกำลังซื้อ มีเสื้อผ้าสวย ๆ ใส่ได้ตามแฟชั่น นับว่าเป็นข้อดี แต่ข้อเสียของ Fast Fashion คือ ผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ขั้นตอนการผลิต แรงงาน ไปจนถึงการกำจัดทิ้ง 

Fast Fashion ผลกระทบต่ออะไรบ้าง   

Fast Fashion กับสิ่งแวดล้อม 

ในแง่ของการใช้ทรัพยากร อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นแบบ fast fashion เป็นอีกหนึ่งประเภทอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลก สำหรับการผลิตและทำความสะอาดสินค้า ซึ่งเสื้อผ้าส่วนใหญ๋ทำมาจากเส้นใยฝ้ายเป็นหลัก และต้องใช้น้ำถึง 10,000 ลิตร ต่อการผลิตฝ้าย 1 กิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับ ผ้า 1 ชิ้น ต้องใช้น้ำประมาณ 3,000 ลิตร! 

ในขณะเดียวกัน สีที่ใช้ย้อมเสื้อผ้าส่วนใหญ่เป็นสีจากการสังเคราะห์สารเคมี มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์โดยตรง คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ด้วยกัน เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ จากการสร้างมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำต่าง ๆ รวมไปถึงมนุษย์ เมื่อนำสัตว์น้ำเหล่านั้นมาปรุงอาหาร และเมื่อใช้น้ำบริโภค-อุปโภค 

ด้วยหลักเกณฑ์ที่ต้องผลิตเสื้อผ้าปริมาณมาก รวดเร็ว และขายราคาถูก ผู้ประกอบการจึงเลือกใช้วัตถุดิบต้นทุนต่ำ เพื่อยังคงให้ได้กำไรแม้จำหน่ายเสื้อผ้าราคาถูก ทำให้เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในปัจจุบันมักเป็นผ้าที่ผลิตจากใยสังเคราะห์ที่เป็นพลาสติกขนาดเล็ก คือ ไมโครไฟเบอร์ ในรูปของเนื้อผ้า โพลีเอสเตอร์ ซึ่งกระบวนการผลิตเสื้อผ้าจากสารสังเคราะห์เคมี มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.3 ล้านตัน / ปี และสร้างปริมาณขยะในแต่ละปีเทียบเท่ากับขวดพลาสติกถึง 50,000 ล้านขวด ที่แย่ไปกว่านั้น ไมโครไฟเบอร์ ย่อยสลายในน้ำไม่ได้ แถมยังแทรกซึมสู่ห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล และวนกลับมาทำร้ายพวกเราทุกคนในรูปของอาหารทะเล 

แล้วทำอย่างไรล่ะเมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ? ทางเลือกที่จะกำจัดเสื้อผ้า fast fashion ได้แก่ 

  1. การฝังกลบ (landfill) ทิ้งสารตกค้างจำนวนมากในดิน ส่งผลให้ดินปนเปื้อนและเสื่อมคุณภาพ มีผลต่อการเกษตร ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ และยังสะสมสารเคมีในพืชผัก อีกทั้งสารเคมีเหล่านั้นจะแทรกซึมไหลลงสู่แหล่งน้ำและมหาสมุทรต่อไป 
  1. เผาทิ้ง มีการเผาเสื้อผ้าทิ้งจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global warming) 

Fast Fashion ปัญหาแรงงาน 

ไม่เพียงแค่นั้น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า Fast Fashion ผลกระทบยังก่อให้เกิดปัญหาการกดขี่แรงงาน สิทธิมนุษยชนระดับโลก จากค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน ในขณะที่ต้องทำงานหนักเพราะต้องผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมาก และในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับกระแสแฟชั่นที่มาไวไปไว ความต้องการของตลาด และต้องแข่งขันกับคู่แข่งเจ้าอื่น ๆ ทำให้แรงงานฝ่ายผลิตต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา ในขณะที่ได้ค่าแรงต่ำอย่างไม่เป็นธรรม เช่น แรงงานชาวอุยกูร์ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษย์ชน ถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำงานโดยไร้การยินยอมเพื่อผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังระดับโลกที่หลายคนต่างก็รู้จักดี 

ปัญหาขยะเสื้อผ้าในไทย 

ในขณะที่หลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความใส่ใจและตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว รวมถึงทุกคนที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ต่างก็ทราบแล้วว่า กระแส Fast Fashion ข้อดี ข้อเสีย มีอะไรบ้าง และถึงแม้ว่าข้อเสียที่ได้จะมีมากมหาศาลทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต แต่ทำไมเทรนด์เสื้อผ้าดังกล่าวยังคงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ราคาเสื้อผ้าเข้าถึงได้ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อย ค่าแรงงานต่ำในขณะที่ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน จะให้ซื้อเสื้อผ้ารักษ์โลก เนื้อผ้าดี ราคาแพง ก็คงเป็นไปได้ยาก เสื้อผ้าแฟชั่นแต่ราคาถูกจึงตอบโจทย์กว่า แถมจะทิ้งเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องเสียดาย ยิ่งปัจจุบันวงการแฟชั่นเสื้อผ้ามักจะมีคอลเลคชันใหม่ ๆ แทบทุก ๆ 2-3 เดือน ต่างจากแฟชันสมัยดั้งเดิมที่มีการผลิตเสื้อผ้าตามฤดูกาล เช่น คอลเล็คชัน Summer หรือ  Winter เป็นต้น  

อุตสาหกรรมแฟชั่นในไทยปัจจุบันนี้ เทรนด์เสื้อผ้า Fast Fashion ในไทยกลายเป็นกระแสนิยมสูงมาก โดยเฉพาะแบรนด์นอกที่เข้ามาตีตลาดเมืองไทย และปลูกฝังความคิดว่าเป็น “ของต้องมี” ในรูปแบบของโฆษณาต่าง ๆ หรือแม้แต่แบรนด์เสื้อผ้าไทยเองก็เช่นกัน เมื่อผ้าซื้อคล่อง ทิ้งง่าย จึงกลายเป็นขยะเสื้อผ้าล้นโลก ส่วนขยะเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งก็จะเข้าสู่กระบวนการกำจัดแบบที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ หากลองคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการทำลายขยะเสื้อผ้า อันมาจากกระแสนิยมแฟชั่นแบบ Fast Fashion มากมหาศาลแค่ไหน ลองย้อนกลับมาดูเสื้อผ้าที่เราซื้อสวมใส่ดูก็ได้ เราเพียงคนเดียวทิ้งเสื้อผ้าไปแล้วเท่าไร x จำนวนทั่วโลกที่ทิ้งเสื้อผ้าเท่ากับเรา = ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ 

ตราบใดที่เรายังคงวนเวียนอยู่กับค่านิยมเสื้อผ้า Fast Fashion ย่อมเป็นไปได้ยากในการลด ภาวะโลกร้อน