#บ้านเรือน #เรื่องน่ารู้

วิธีเอาตัวรอดจากน้ำท่วม 

ช่วงนี้สถานการณ์ในประเทศไทย โหมกระหน่ำด้วยพายุ และสายฝนที่ตกหนักชนิดที่เรียกว่า ฟ้ารั่ว ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแทบทุกภาค เพียงแค่ปีนี้ก็มีผู้เสียชีวิตและสูญหายไปกับน้ำป่าที่ไหลเชี่ยวไปแล้วหลายรายด้วยกัน 

เพจสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ – สพฉ. 1669 เคยได้มีการแนะนำวิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ ต้องปฏิบัติเช่นไรเมื่อต้องเจอกับน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก โดยได้มีการระบุไว้ดังนี้ 

1. กรณีที่เกิดพายุ ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยคอยติดตามข่าว และฟังประกาศเตือนภัย พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ควรเตรียมการในเบื้องต้นด้วยการตรวจสอบรอบบ้านให้ทั่ว เพื่อหาจุดที่ชำรุด จะได้ทำการซ่อมแซม ตรึงประตูและหน้าต่างให้มั่นคง ถอดปลั๊กไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ยกอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรเมื่อเกิดฝนตกหรือมีน้ำไหลซึมเข้าบ้าน 

เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ไฟฉาย เทียนไข ยาประจำตัวและยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็น (ยาแก้ปวด ยาแก้ท้องเสีย คาลาไมน์ ยาแก้น้ำกัดเท้า ยาล้างแผล ผ้าพันแผล ฯลฯ ) และห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟ รวมไปถึงห้ามใช้โทรศัพท์ ขณะฝนตก ฟ้าคะนอง ฟ้าร้อง เด็ดขาด 

2. กรณีเกิดเหตุดินโคลนถล่มจากฝนตกหนัก ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง จะต้องคอยสังเกตจากสิ่งรอบตัว เช่น น้ำมีสีขุ่น ต้นไม้หัก หินก้อนใหญ่ตกลงมา หากเจอในลักษณะนี้ ให้รีบอพยพไปยังพื้นที่สูงและมั่นคง 

3. กรณีพลัดตกน้ำ ให้รีบมองหาต้นไม้ใหญ่เพื่อยึดเกาะไว้ แล้วรีบขึ้นจากน้ำให้ได้ แต่ถ้าหนีไม่ทัน ให้ม้วนตัวเป็นทรงกลมให้มากที่สุด เพื่อป้องกันศีรษะกระแทก 

4. การป้องกันเหตุน้ำป่าไหลหลากฉับพลัน ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง โดยเลี่ยงทางน้ำ หรือใกล้บริเวณแหล่งน้ำ ช่องระบายน้ำ และควรสวมเสื้อชูชีพ ห้ามเดินฝ่ากระแสน้ำ ต่อให้เป็นธารน้ำเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะอาจมีมวลน้ำมหาศาลตามมากระทันหันจะทำให้หนีไม่ทัน และไหลไปกับสายน้ำอย่างรวดเร็ว จนไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ และควรมีไม้ติดมือไว้ เพื่อใช้ไม้ปักดินคลำทาง เพื่อใช้บอกระดับความตื้น-ลึกของดิน

5. ห้ามขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม และหากน้ำขึ้นรอบ ๆ รถสูงขึ้นเรื่อย ๆ ให้รีบออกจากรถทันที (ควรมีอุปกรณ์แุกเฉินติดรถไว้เสมอ เช่น ฆ้อนทุบกระจก เผื่อกรณีติดในรถแล้วเปิดประตูไม่ได้) อย่าเสี่ยงช่วยเหลือใครหากไม่มีอุปกรณ์ เพราะอาจไม่รอดทั้งคู่ 

6. กรณีที่มีเด็กเล็ก จะต้องให้ความใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษ และเตรียมให้พร้อมมากที่สุด เพราะเด็กเสี่ยงต่อการจมน้ำได้ง่าย 

7. ทุกกรณีที่พบผู้บาดเจ็บ รีบติดต่อโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 

และเมื่อเกิดอุทกภัย น้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก วิธีการป้องกันตนเองและคนรอบข้าง รวมไปถึงสิ่งของต่าง ๆ ทำอย่างไรที่จะเอาตัวรอดมาจากสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย ซึ่ง 10 วิธีเอาตัวรอดจากอุทกภัย มีดังต่อไปนี้ 

1. ติดตามสถานการณ์และการประกาศเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง 

2. คอยสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติรอบตัว 

3. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ 

4. เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ยกของสำคัญเก็บไว้บนที่สูง

5. ตัดสะพานไฟในบ้าน ยกอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดไว้บนที่สูง 

6. หมั่นสังเกตปริมาณน้ำทุกช่วงเวลา

7. เตรียมอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรคที่จำเป็นให้พร้อม 

8. จัดเตรียมแผนการไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง

9. อพยพเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และสัตว์เลี้ยง ไปยังที่ปลอดภัยไว้ก่อน

10. ห้ามขับขี่ยานพาหนะขณะที่มีฝนตกหนัก (ช่วงที่มีประกาศให้ระวังพายุ) 

การไม่ประมาทและวางแผนการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เป็นวิธีการรับมือสถานการณ์ได้ดี ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียและความเสียหายน้อยลง แต่เพิ่มโอกาสรอดและปลอดภัยได้มากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับเภทภัยต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้างก่อน อย่ามัวแต่ห่วงของมีค่าใด ๆ และที่สำคัญคือจะต้องมี “สติ” อยู่เสมอ เพราะต่อให้รู้วิธีการเอาตัวรอดสารพัดแบบ แต่ถ้าไม่มีสติขณะประสบภัย ก็ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองหรือใคร ๆ ได้เลย